อนาคตแห่งการลงทุน ที่อาจเข้ามาแทนที่ index fund

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

เจอบทความนึงใน BloombergBusinessweek น่าสนใจทีเดียว

ระยะหลัง ตั้งแต่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ปลุกกระแส passive fund ขึ้นมา ทำให้กองทุนรวมประเภท active fund เสียลูกค้าไปให้พวก ETF ค่าธรรมเนียมต่ำๆ โดยเฉพาะ index fund เยอะมาก

ล่าสุด เจ้าใหญ่อย่าง Morgan Stanley, Blackrock และ Vanguard Group (สองรายหลังเป็นเจ้าพ่อ index fund เช่นกัน) จึงดัน “ของใหม่” ออกมาขายเพื่อ “โต้กลับ”

ของใหม่ที่ว่านี้ คือ “ซอฟท์แวร์” ซึ่งจะให้นักลงทุนแต่ละคนสร้าง “ดัชนีส่วนตัว” ของตัวเองขึ้นมาได้

ชื่อของมันคือ “custom indexing” หรือ “direct indexing” ซึ่งบางคนบอกว่า เป็น “การจัดการสินทรัพย์แห่งอนาคต” อันจะมาแทนที่การซื้อกองทุนแบบเดิมๆ เลยทีเดียว

รูปแบบของ custom indexing กับ direct indexing มีความแตกต่างกันอยู่เล็กน้อย

สำหรับ direct indexing ผู้ลงทุนจะเลือกดัชนีที่มีอยู่แล้วเป็นตัวตั้ง เช่น S&P500 แล้วปรับแต่งตามความต้องการ

เช่น เอาหุ้นที่ทำลายสิ่งแวดล้อมออกไป เอาหุ้นที่เจ้าของชอบทวีตปั่นหุ้นตัวเองออกไป แทนที่จะต้องซื้อหุ้นทั้ง 500 ตัวในดัชนีนั้นๆ ซึ่งย่อมมีหุ้นที่ตัวเองไม่ชอบปะปนอยู่ด้วย

นัยยะของคำว่า direct ก็คือ สามารถ “ซื้อหุ้นตรง” ตามที่อยากได้ โดยเลือกจากดัชนีเดิมที่มีอยู่แบบไม่ต้อง “กวาด” เปรียบได้กับการสร้าง “ดัชนีส่วนตัว” ขึ้นมา

ขณะที่ custom indexing ผู้ลงทุนไม่จำเป็นต้อง “base” หรือสร้างกองทุนโดยปรับเปลี่ยนจากดัชนีที่มีอยู่แล้วด้วยซ้ำไป แต่สามารถ “วาดภาพ” ดัชนีที่ตัวเองต้องการขึ้นมาได้ทั้งหมด

เช่น ผมต้องการหุ้น new economy แต่ไม่เอาหุ้นการเงิน ไม่เอาหุ้นยา เน้นพวก SaaS หรือ software-as-a-service สุดท้ายจึงได้หุ้นมา 70-80 ตัว เปรียบเสมือน “ดัชนีส่วนตัว” ของผมเอง เป็นต้น

เปรียบเทียบให้เห็นภาพที่สุด มันคือ “Spofity แห่งโลกของการลงทุน” เป็นการซื้อกองทุนที่ผู้ลงทุนสามารถสร้าง “Playlist หุ้น” ของตัวเองขึ้นมาได้ตามใจ

เล่ามาถึงตรงนี้ บางคนอาจแย้งว่า ของพวกนี้ private fund เขาก็ทำอยู่แล้วไม่ใช่หรือ? แค่ให้คนเลือกหุ้นเอง มัน “ใหม่” ตรงไหนเล่า?

คำตอบก็คือ “ใช่” มันอาจจะไม่ใหม่ แต่ในกรณี private fund คุณต้องมีเงินในระดับหนึ่ง เช่น สัก 1 ล้านเหรียญ หรือถ้าเป็นของไทยก็ต้องหลักสิบล้านบาท

ทว่าต่อไปนี้ มันจะเป็น product สำหรับผู้ลงทุนทั่วไป ด้วยต้นทุนที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้

นอกจากนี้ ไอเดียนี้ยังเรียกเสียงปรามาสได้ไม่น้อย

บ้างก็ว่า มันคือไอเดียที่พวก บลจ.จะหลอกเอาค่าธรรมเนียมจากผู้ลงทุนสูงขึ้นกว่า index fund

เช่น แทนที่จะให้คนซื้อ S&P 500 ETF แล้วเก็บค่าธรรมเนียม 0.1% ก็หันมาขาย direct indexing ตัดหุ้นออกไป 50 ตัว เหลือ 450 ตัว แล้วเก็บค่าธรรมเนียม 0.3% แทน

บ้างก็ว่า การให้ผู้ลงทุนเลือกหุ้นเอง มันก็เหมือนกับการ “ลงทุนเอง” ซึ่งสถิติตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันชี้ชัดแล้วว่า มนุษย์เราไม่ควรลงทุนเอง เพราะมักจะ “เจ๊ง” เสมอ

แต่สุดท้ายแล้ว บางคนก็มองว่า custom indexing หรือ direct indexing อาจจะเติบโตและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว …

จนกลายเป็นภัยคุกคามต่อทั้ง ETF และกองทุนรวม (active fund) เหมือนกับที่ ETF เคยเป็นภัยคุกคามต่อกองทุนรวมมาก่อนหน้านี้ และปรากฏชัดแล้วในวันนี้นั่นเอง


ที่มา : BloombergBusinessWeek, December 13, 2021

เมื่อผมได้พบกับผู้อยู่เบื้องหลังต้นกำเนิดสโมสร RB Leipzig

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

อย่างที่เคยบอกไปแล้วในเพจเฟซบุ๊ก Club VI ว่า ผมตัดสินใจออกเดินทางไกลเพื่อภารกิจ “scuttlebutt หุ้น” โดยจะเขียนบทความเชิงลึกแนว investigative สำหรับหุ้นแต่ละตัวให้ได้อ่านกันเรื่อยๆ

เรื่องที่จะเล่าในตอนนี้ มาจากการที่ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมออนไลน์ กับ มิคาเอล โคลเมิล ผู้ประกอบการชื่อดังชาวเยอรมัน

มิคาเอลเป็นเจ้าของบริษัทภาพยนตร์ สำนักพิมพ์ และเป็นอดีตเจ้าของสนามฟุตบอล ซึ่งปัจจุบันคือ Red Bull Arena ของสโมสร RB Leipzig อีกด้วย

ระหว่างการประชุม มิคาเอล เล่าให้ฟังถึงเส้นทางการทำธุรกิจของเขา จุดเริ่มต้นคือเขาและน้องชายได้ตั้งบริษัทจัดจำหน่ายภาพยนตร์ขึ้นเมื่อปี 1984 โดยเน้นขายเฉพาะ “หนังอินดี้” ทำให้มีกลุ่มลูกค้าหลักคือโรงหนังอาร์ตๆ ทั้งหลาย (ถ้าเป็นเมืองไทยคงประมาณลิโด้ สกาล่า) และแล้วในปี 1996 บริษัทของเขาก็รวยเละ จากหนัง “The English Patient” ซึ่งได้รับรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ทำให้มิคาเอลสามารถเอาบริษัทเข้าตลาดหุ้นได้สำเร็จ

บริษัทของมิคาเอลเป็นเจ้าของสัมปทานสื่อกระจายเสียง และเขาก็เกิดไอเดียว่าคอนเท้นท์ที่จะดึงคนดูได้คือ “ฟุตบอล” จึงตัดสินใจที่จะเข้าลงทุนในสโมสรฟุตบอลจำนวนมาก ด้วยการเลือกเฉพาะทีมที่กำลังประสบปัญหา โดยหวังว่าถ้าทีมกลับสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้ง  ก็จะสร้างผลตอบแทนให้กับบริษัท แต่แล้วกลยุทธ์นี้ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนเป็นสาเหตุสำคัญทำให้บริษัทล้มละลาย 

ทว่าด้วยความสู้ไม่ถอย มิคาเอลจึงสามารถพลิกฟื้นอาณาจักรธุรกิจกลับมาได้ และเติบโตยิ่งกว่าเก่าเสียอีก หนึ่งในนั้นคือการสร้าง Kinowelt TV ช่อง pay TV ที่เขาหุ้นกับน้องชายคนละครึ่ง ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างงดงาม และขายให้ AMC Networks (บริษัทที่หุ้นถูกดันโดยชาว Reddit พร้อมๆ กับ Gamestop) ไปเป็นเงินก้อนโต

ในปี 2000 บริษัทของมิคาเอลได้สิทธิ์ในการเข้าไปก่อสร้างและบริหารสนามกีฬา Leipzig Central Stadium ซึ่งเคยเป็นสนามกีฬาขนาดใหญ่ที่สุดของเยอรมนีตะวันออก โดยใช้เงินลงทุนถึง 90 ล้านยูโร และในจำนวนนั้น เป็นเงินที่มิคาเอลควักกระเป๋าเองถึง 27 ล้านยูโร ก่อนที่สนามแห่งนี้จะได้ใช้ในการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 ด้วย

และแล้ว การเดินหมากตาสำคัญในชีวิตธุรกิจของเขาครั้งหนึ่งก็มาถึง โดยมิคาเอลได้ติดต่อกลุ่ม Red Bulls ซึ่งก่อนหน้านั้นเพิ่งเข้าไปเทคโอเวอร์ FC Sachsen Leipzig ทีมท้องถิ่นของเมืองไลพ์ซิก แต่ไม่เวิร์กเพราะถูกต่อต้านจากแฟนบอลท้องถิ่น ให้เข้ามาลงทุนกับสโมสร SSV Markranstadt ในเครือข่ายของเขา ก่อนจะสปินออฟทีมฟุตบอลชายออกมา แล้วใช้ชื่อว่า RB Leipzig

ในฤดูกาล 2010/11 ทีม RB Leipzig ได้ย้ายมาเล่นที่สนาม Central Stadium ของมิคาเอล โดยกลุ่ม Red Bulls ได้รับสิทธิ์ในการตั้งชื่อ หรือที่เรียกว่า naming rights และเปลี่ยนชื่อสนามเป็น “Red Bull Arena” จากนั้นในปี 2016 มิคาเอลก็บรรลุข้อตกลงกับ Red Bulls ในการขายสนามให้กับกลุ่มทุนชื่อดังรายนี้ไปในที่สุด ขณะที่ทีม RB Leipzig ก็เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นทีมชั้นนำของบุนเดสลีกา ลีกฟุตบอลสูงสุดของเยอรมนีจนถึงปัจจุบัน

ดังที่เคยเขียนเล่าไปแล้วว่าผมตัดสินใจออกมาหาประสบการณ์การลงทุนในต่างประเทศ แม้เคสนี้จะยังไม่สามารถแปลงเป็นโอกาสในการลงทุนได้ แต่ก็เป็นเรื่องน่าสนใจที่อยากเอามาเล่าสู่กันฟังครับ

ก้าวต่อไปของ Meituan “ซุปเปอร์แอพ” แดนมังกร

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

อย่างที่เคยบอกไปแล้วในเพจเฟซบุ๊ก Club VI ว่า ผมตัดสินใจออกเดินทางไกลเพื่อภารกิจ “scuttlebutt หุ้น” โดยจะเขียนบทความเชิงลึกแนว investigative สำหรับหุ้นแต่ละตัวให้ได้อ่านกันเรื่อยๆ

วันนี้ผมได้นัดพบกับ “เจิ้น” อดีตผู้บริหารของ Meituan Dianping ซุปเปอร์แอพชื่อดังที่ไม่มีคนจีนคนไหนไม่รู้จัก ปัจจุบันเจิ้นย้ายมาอยู่ที่เยอรมนีเพื่อเรียน MBA และได้สละเวลาพูดคุยกับผม ทำให้ได้ทราบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับองค์กรแห่งนี้เยอะมากๆ 

เนื่องจากคุยกันค่อนข้างยาว ผมขอสรุปเฉพาะประเด็นหลักๆ ไว้ในที่นี้เป็นเบื้องต้นก่อนนะครับ หากมีโอกาสจะเอามาเล่าเพิ่มเติมในภายหลัง

  1. เจิ้นบอกว่า ตอนนี้ Meituan กำลังทำหน่วยธุรกิจใหม่ขึ้นมา ใช้ชื่อว่า “เซ่อชวีถวนโก้ว” (社区团购) โดยเน้นขายสินค้าเกษตร ของสด เช่น ผัก ผลไม้ ในเมืองรอง (หมายถึงเมืองที่ยังไม่พัฒนาเต็มที่ ซึ่งทางจีนจัดอันดับเป็นเมือง tier 3, tier 4) คือให้ลูกค้าสั่งของผ่านทางแอพ Meituan และสามารถไปรับได้ที่ร้านขายผัก ร้านโชห่วย ใกล้บ้านได้ทันทีในวันรุ่งขึ้น (meituan มีโกดังทั่วประเทศอยู่แล้ว เมื่อมีออเดอร์เข้ามาก็แค่จัดส่งไปยังร้านรับของเท่านั้น)
  2. Meituan ได้ไปดีลกับพนักงานขายของร้านค้าในเมืองรองเหล่านั้น เพื่อให้เป็นตัวแทนของบริษัท ตัวแทนเหล่านี้จะเรียกว่า “ถวนโก้ว” ซึ่งล้วนเป็นชาวบ้านในท้องถิ่น ไม่ใช่พนักงานประจำ หน้าที่ของถวนโก้วคือให้ช่วยเชียร์สินค้าของ Meituan โดยจะได้รับส่วนแบ่ง 15% จากยอดขาย 
  3. ปัจจุบัน “เซ่อชวีถวนโก้ว” เป็นหน่วยธุรกิจที่ Meituan ถือว่า “สำคัญที่สุด” ในบรรดาทุกธุรกิจของบริษัทเวลานี้ ถึงขนาดตั้งกฏว่า หากพนักงานคนไหนอยากย้ายมาทำงานที่หน่วยนี้ก็สามารถทำได้ทันที โดยไม่ต้องขออนุญาตจากหัวหน้า และจะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นเยอะมาก แต่มีข้อแม้คือต้องทำงานวันเสาร์ด้วย จะเห็นได้ว่า Meituan ตั้งใจ “ทุ่มทุกอย่าง” จริงๆ เพื่อแย่งชิงตลาดนี้
  4. ใครที่ติดตามงานเขียนของผมมาตลอด (โดยเฉพาะใน My Value) คงพอทราบแล้วว่าใครที่ยึดครองตลาดนี้มาแต่เดิม คำตอบก็คือ “Pinduoduo” นั่นเอง โดย Pinduoduo เป็นผู้บุกเบิกการขายสินค้าเกษตรในเมืองรอง ซึ่งเป็นตลาดที่ยังไม่เคยมีใครเจาะมาก่อน จนทำให้บริษัทกลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงที่สุดในบรรดา tech company ของจีน และนี่แหละคือคู่แข่งตัวใหญ่ที่สุดที่ Meituan กำลังท้าทาย
  5. เจิ้นบอกว่า ตอนนี้ใครๆ ก็อยากมาแย่งตลาด tier 3-4 เพราะคนที่นั่นยังเข้าไม่ถึงเน็ตอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะคนแก่ๆ ที่ยังชอบไปซื้อของที่ร้านด้วยความคุ้นเคยและเชื่อว่าราคาถูกกว่า ต่างจากคนในเมืองใหญ่ที่ซื้อของผ่านออนไลน์หมดแล้ว (สอดคล้องกับที่ผมย้ำมาตลอดว่า ใครบอกว่าคนจีนเข้าถึงอินเทอร์เนตหมดแล้วนั้นไม่จริงแน่นอน เพราะในเมืองรองๆ ยังมี penetration rate ต่ำมากเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่ๆ)
  6. เจิ้นบอกว่า “จิงตง” (หมายถึง JD. com) ก็กำลังพยายามเข้ามาในเมืองรองเช่นกัน เพราะ JD ขยายตลาดในเมือง tier 1-2 ได้ยากมากแล้ว  (JD เน้นขายของแบรนด์ สินค้าไฮเอนด์ ตลาดหลักจึงเป็นเมืองใหญ่ๆ ตรงข้ามกับ Pinduoduo ที่ทำแบบ “ป่าล้อมเมือง” คือเริ่มจากเมืองรองและกำลังขยายเข้ามายังเมืองใหญ่)
  7. แม้แต่ meituan เอง ตัวเลข MAU (monthly active user หรือผู้ใช้ที่มีความเคลื่อนไหวต่อเดือน) ในเดือนหลังๆ ก็แทบไม่ขยับ ขณะที่เมืองรองยังมีโอกาสอีกมาก (เจิ้นย้ำถึงความสำคัญของตัวเลขนี้ ซึ่งผมเองก็เห็นด้วยว่านี่คือตัวเลขที่เป็นหัวใจสำคัญของบริษัทเทคเลยทีเดียว)
  8. เจิ้นย้อนความหลังงว่า เมื่อก่อน Meituan เริ่มจากการทำ food delivery แต่ตอนนี้เป็นแทบทุกอย่าง เป็นแอพเรียกแท็กซี่ เป็นโน่นเป็นนี่ และกำลังมุ่งที่จะเป็น marketplace เหมือน Alibaba เหมือนกับ Tencent ที่แต่เดิมทำวีแชท แต่ตอนนี้กลายเป็นซุปเปอร์แอพ มีทุกอย่างในแอพเดียว
  9. เจิ้นบอกว่า Meituan พร้อมขยายธุรกิจไปตามความต้องการของลูกค้า ลูกค้าต้องการอะไรก็พร้อมที่จะไปทำ เหมือน Amazon แต่เดิมขายหนังสืออย่างเดียว แต่ตอนนี้ทำหลายอย่างมาก แม้แต่คลาวด์ก็ยังทำ ซึ่ง Meituan ก็จะดำเนินไปในทางนั้น 
  10. เจิ้นบอกว่า Meituan ไม่กลัวที่จะขาดทุน ถ้าเห็นว่าโอกาสอยู่ที่ไหนก็พร้อมจะทุ่มเงินไม่อั้นเพื่อแย่งชิงตลาดมา (การเป็น fist mover จะได้เปรียบมาก ถ้าสร้างฐานลูกค้าไว้ได้มากๆ สุดท้ายคู่แข่งก็จะตามไม่ทัน บริษัทเทคทั้งหลายจึงยอมขาดทุนในช่วงแรกก็ด้วยเหตุผลนี้ นี่แทบจะเป็นปรัชญาของ tech company เลยก็ว่าได้) 
  11. อันนี้เด็ดมาก เจิ้นบอกว่า Meituan ตั้งเป้าว่าจะเป็นอย่าง Amazon ผมบอกเจิ้นว่าตรงข้ามกับ Alibaba เลย เพราะถ้าไปบอกคนของ Alibaba ว่าบริษัทของพวกเขาเป็น Chinese Amazon พวกเขาจะโกรธมาก เพราะเขาเชื่อว่าเขาเป็นมากกว่านั้น แต่เจิ้นบอกว่า Meituan ไม่ใช่อย่างนั้น บริษัทของเขาบอกชัดเลยว่าต้องการจะเป็น Amazon ของจีน
  12. เจิ้นบอกว่า พนักงาน Meituan จะมีแอพสำหรับสื่อสารกันในองค์กร ไม่ได้ใช้วีแชท (แน่นอนสิ ก็เป็นคู่แข่งกันอยู่ ไปใช้ของคู่แข่ง (หมายถึง Tencent) เดี๋ยวความลับรั่วไหล)
  13. ผมถามเจิ้นว่า เรื่องที่รัฐบาลจีนเข้ามา crackdown บริษัทเทค เขามองยังไง เจิ้นบอกว่าเขามองเป็นเรื่องที่ดี จะได้จัดระเบียบกันใหม่ให้ประชาชนได้ประโยชน์ แม้ว่าราคา Meituan จะลงมาเยอะมาก แต่ที่ผ่านมามันก็ขึ้นไปเยอะแล้ว ปรับลงมาก็ไม่แปลก (ในฐานะนักลงทุน เจิ้นมองว่าเป็นโอกาสซื้อด้วยซ้ำ แต่ผมไม่อยากให้มีการเชียร์หุ้นในข้อเขียนนี้ จึงไม่ขอให้ความเห็น และขอความกรุณาอย่าสนใจในประเด็นนี้นะครับ)
  14. เจิ้นบอกว่า คนที่จะขึ้นเป็นผู้บริหารผู้บริหารระดับสูงของ Meituan ได้ คือคนของ “หวัง ซิง” (CEO ของ Meituan) คนเหล่านี้บ้างก็เป็นศิษย์ร่วมสถาบัน หรือเป็นพรรคพวกของหวังซิง แต่ถ้าไม่ใช่ สูงสุดคือเป็นได้แค่ผู้บริหารระดับกลาง

ทั้งหมดนี้คือประเด็นหลักๆ ที่ได้จากการคุยกับเจิ้น ที่จริงยังมีรายละเอียดอีกมาก เอาไว้มีโอกาสจะมาเล่าให้ฟังต่อนะครับ 

ผมยังมีงานเขียนเขิงลึกเช่นนี้อีกมาก ในแพลน My Value ที่จะให้แนวทางในการลงทุนหุ้นต่างประเทศกับทุกท่าน ท่านใดสนใจข้อเขียนเชิงลึกเช่นนี้ ซึ่งจะมีตามมาอีกมาก นอกเหนือจากที่โพสต์ให้อ่านฟรีในเพจ คลิกได้ ที่นี่ ครับ