เล่าเรื่อง ทิวลิปเมเนีย (๑)

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

“ทิวลิปเมเนีย” (Tulip Mania หรือ Tulipomania) เกิดขึ้นใน “ยุคทอง” (Golden Age) ของเนเธอร์แลนด์ ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1630 ซึ่งราคาค่าสัญญาสำหรับสิทธิ์ในการซื้อดอกทิวลิปพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ก่อนจะล่มสลายลงในที่สุด

ณ จุดสูงสุดของทิวลิปเมเนีย เมื่อเดือน ก.พ. ปี 1637 ทิวลิปบางดอกขายกันอยู่ที่ราคาสูงกว่า 10 เท่าของค่าจ้างรายวันทั้งปีของแรงงานชั้นดี

แม้ในภาพยนตร์เรื่อง Wall Street: Money Never Sleeps ตัวละครเอกของหนังคือ กอร์ดอน เกคโค ยังพูดกับว่าที่ลูกเขยตัวเองซึ่งเป็นเทรดเดอร์ดาวรุ่ง ถึงปรากฏการณ์ “ทิวลิปเมเนีย” ว่า ราคาของทิวลิปบางดอกในยุคนั้น สามารถเอาไปซื้อคฤหาสถ์หรูริมน้ำได้เลยทีเดียว

“ทิวลิป” เข้ามาในยุโรปครั้งแรก เมื่อทูตของประเทศตุรกีนำดอกของมันพร้อมเมล็ดพันธุ์เข้ามาในเมืองเวียนนา ปัจจุบันคือประเทศออสเตรีย จากนั้น ทิวลิปได้แพร่กระจายไปในหลายเมืองใหญ่ รวมทั้งในอัมสเตอร์ดัม

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ความนิยมที่ผู้คนมีต่อทิวลิปได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ควบคู่ไปกับการค้าของเนเธอร์แลนด์ที่เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด จนเรียกกันว่าเป็น “ยุคทอง” ว่ากันว่าพ่อค้าวาณิชชาวดัตช์เพียงล่องเรือออกไปค้าขายเที่ยวหนึ่ง ก็สามารถทำกำไรจากการขายสินค้าได้ถึง 400 เปอร์เซ็นต์ จนมี “เศรษฐีใหม่” ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด

เมื่อมีเงินแล้ว เศรษฐีใหม่เหล่านั้นก็เริ่มมีค่านิยมในการสร้างบ้านหลังใหญ่ๆ โดยปลูกสวนดอกไม้ไว้รอบๆ บ้าน เพื่อแสดงฐานะ และดอกไม้ที่เป็นตัวแทนของความมั่งคั่งได้ดีที่สุด ก็คือ “ทิวลิป” นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ จาก “พฤกษางาม” ธรรมดา ทิวลิปจึงกลายเป็น “ของมีค่า” ไปโดยปริยาย

(ติดตามต่อตอนหน้า)

อ้างอิง http://penelope.uchicago.edu/~grout/encyclopaedia_romana/aconite/tulipomania.html  http://en.wikipedia.org/wiki/Tulip_mania

Leave a comment