“กำไร” หัวใจของธุรกิจ

[บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ “ชวน VI เปิดงบ” ซึ่ง Club VI จะอรรถาธิบายวิธีอ่านตัวเลขทางการเงินอย่างง่ายๆ  เพื่อประโยชน์สำหรับวีไอมือใหม่และช่วยทบทวนให้กับวีไอทุกๆ ท่านครับ]

คราวที่แล้วได้ชวนคุยถึง “กระแสเงินสด” ที่เป็นเสมือนโลหิตเลี้ยงกิจการ ในตอนนี้เราจะมาว่ากันถึงเรื่องของ “กำไร” ที่ถือเป็น “หัวใจ” คอยสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วทั้งร่างกายกันนะครับ

บรรทัดแรกของงบกำไรขาดทุน คือ “รายได้” หรือ “ยอดขาย” ของกิจการ อันเกิดจากธุรกิจที่ทำ ซึ่งเมื่อหักด้วย “ต้นทุนขาย” (เช่น ค่าวัตถุดิบ  ค่าแรง ฯลฯ) ก็จะกลายเป็น “กำไรขั้นต้น” (Gross Profit) อันเป็นกำไรตัวแรกในงบกำไรขาดทุน

แต่ชื่อก็บอกแล้วว่า เป็นเพียง “กำไรขั้นต้น” เท่านั้น คือมาจาก รายได้ หรือ ยอดขาย หักด้วย “ต้นทุน” ซึ่งจะทำให้เห็นภาพพื้นฐานได้อย่างชัดเจน

ยกตัวอย่างเช่น สมัยเด็ก วอร์เรน บัฟเฟตต์ ซื้อโค้กแพ็คละ 6 กระป๋อง ในราคา 25 เซ็นต์ จากนั้นจึงเอาไปขายปลีกให้กับคนที่เดินผ่านไปผ่านมาในราคากระป๋องละ 5 เซ็นต์ เท่ากับว่าได้เงินแพ็คละ 30 เซ็นต์ (5 x 6 = 30)

จากยอดขายที่เขาทำได้ 30 เซนต์ต่อแพ็ค เมื่อหักด้วยต้นทุนแพ็คละ 25 เซนต์ เท่ากับว่าบัฟเฟตต์ได้กำไร 5 เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็น “กำไรขั้นต้น” ของหนูน้อยบัฟเฟตต์นั่นเอง

หรือลองยกตัวอย่างธุรกิจใหญ่ๆ บ้าง สมมติว่าเป็น “บริษัทขายเบเกอรี่” ต้นทุนขายก็คือค่าแป้งสาลี น้ำตาล ถั่ว งา ฯลฯ ที่เอามาผลิตขึ้นเป็นก้อนขนมปัง

ทั้งนี้ กำไรขั้นต้น ยังไม่ใช่สิ่งที่เราจะได้รับจริงๆ เพราะยังต้องมีอีกหลายอย่างที่เราต้อง “หัก” ออกไป

ลำดับต่อไปที่เราต้องหักออกก็คือ “ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน”  (Operating Expense) บ้างก็เรียกว่า “ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร” (Selling & Administrative Expense)

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน หรือ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ต้นทุนโดยตรงของสินค้าหรือบริการ แต่เกิดขึ้นจากกระบวนการขายสินค้าหรือบริการนั้นๆ หรือเกิดขึ้นจากการบริหารกิจการ  

ตัวอย่างของค่าใช้จ่ายประเภทนี้ อาทิ เงินเดือนพนักงาน ค่าน้ำค่าไฟในสำนักงาน ค่าน้ำมันรถ ค่าเช่าที่ ฯลฯ

เมื่อนำ “กำไรขั้นต้น” หักออกด้วย “ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน” แล้ว ก็จะเหลือเป็น “กำไรจากการดำเนินงาน” (Operating Profit)

จากตัวอย่างเดิม สมมติ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ในวัยเด็กต้องขึ้นรถเมล์ไปซื้อโค้กมาขาย โดยเสียค่ารถเมล์ 1 เซนต์ “ค่ารถเมล์” ที่เกิดขึ้นนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

และสมมติเล่นๆ ว่า กิจการเริ่มงอกเงย จนหนูน้อยวอร์เรนจ้างเพื่อนที่โรงเรียนไปยืนขายโค้กแทนตัวเอง โดยแบ่งให้เพื่อนแพ็คละ 1 เซ็นต์ รวมแล้วธุรกิจของวอร์เรนจะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเท่ากับ ค่ารถเมล์ 1 เซ็นต์ + ค่าจ้างเพื่อน 1 เซนต์ รวมเป็น 2 เซนต์

ดังนั้น กำไรของบัฟเฟตต์ที่เหลืออยู่แพ็คละ 3 เซ็นต์ (5 – 2 = 3) ก็คือ “กำไรจากการดำเนินงาน” นั่นเอง

ในกรณีของบริษัทเบเกอรี่ที่ได้ยกตัวอย่างไปแล้ว “ค่าใช้จ่ายขายและบริหาร” ก็คือ เงินเดือนพนักงาน, ค่าน้ำค่าไฟ, ค่าเช่าที่สำหรับทำโรงงาน ฯลฯ

และที่อธิบายมาทั้งหมด คือ กำไรสองตัวแรก ได้แก่ “กำไรขั้นต้น” (Gross Margin)  “กำไรจากการดำเนินงาน” (Operating Profit) รวมทั้งในฝั่งของต้นทุน คือ “ต้นทุนขาย” และ “ต้นทุนในการดำเนินงาน”

ในตอนหน้า เราจะมาว่ากันถึงกำไรในบรรทัดต่อๆ ไป ไม่ว่าจะเป็น EBITDA, Net Profit ที่มือใหม่หลายคนอาจไม่ช่ำชองนัก โปรดติดตามครับ

Leave a comment